วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

วิธีการจัดการดูแลเด็กออทิสติกเมื่อเด็กดื้อ


วิธีการจัดการดูแลเด็กออทิสติกเมื่อเด็กดื้อ

การแสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกนั้นมีลักษณะ และความรุนแรงแตกต่างกันไป
โดยแบ่งได้เป็น 3  ประเภท  ที่พบเห็นได้บ่อยคือ
      1. ทำร้ายตนเอง  เช่น  ตีศีรษะ  โขกศีรษะกับพื้น  กัดมือตนเอง  กระแทกตัวกับเก้าอี้
      2. ทำร้ายผู้อื่น  เช่น  ตบหน้า  กัด ใช้นิ้วจิ้มตา  เตะถีบ  ดึงผม  ล็อคคอ  กระชากคอเสื้อ
      3. ทำลายสิ่งของ  เช่น  ล้มตู้  คว่ำถาดอาหาร  ทุ่มเก้าอี้  ขว้างปาข้าวของ

เทคนิคและวิธีการจัดการดูแลเด็กออทิสติกเมื่อเด็กดื้อ

1. ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กในขณะนั้น แต่ต้องไม่ยอมรับพฤติกรรมนั้น

2. หยุดพฤติกรรมนั้นทันทีเมื่อเห็นว่าเป็นอันตรายต่อเด็ก ผู้อื่น และทรัพย์สิน

3. แยกเด็กออกจากกลุ่มหรือสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตราย

4. พูดคุยปลอบโยน เข้าหาเด็กด้วยท่าทีสงบมั่นคง พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล และไม่แสดงท่าทีคุกคามเด็กหรือตะโกนดุด่า

5. ค้นหาสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว แยกเด็กออกจากสิ่งเร้านั้น และตอบสนองความต้องการตามความเหมาะสม

6. การแสดงความก้าวร้าว บางครั้งอาจเกิดจากการเรียกร้องความสนใจ หากผู้ปกครองพิจารณาแล้วไม่เกิดอันตรายให้นิ่งเฉยไม่ต้องสนใจ ไม่นาน เด็กจะหยุดพฤติกรรมเอง

7. การผูกมัด ใช้ในกรณีที่เด็กมีความก้าวร้าวรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นรวมทั้งทรัพย์สิน แต่อย่ามัดแน่นจนเกินไป และหมั่นตรวจดูบริเวณที่มัดไม่ให้เกิดรอยเขียวช้ำหรือบาดแผล

8. เมื่อเด็กสงบลง ชี้แจงเหตุผลที่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมดังกล่าว และเหตุผลของการผูกมัด และตกลงเงื่อนไขกับเด็ก เช่น ถ้านั่งเฉยๆ ไม่อาละวาดอีก อีก 10 นาทีจะแก้มัดให้ และต้องทำตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด

9. ให้เด็กรู้จักรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ถ้าเด็กอาละวาด ขว้างปา
ข้าวของให้เด็กเก็บของนั้นเข้าที่ให้เรียบร้อย หรืออาจลงโทษเด็กโดยงดกิจกรรมที่เขาชอบในวันที่เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

10. จัดให้เด็กมีพฤติกรรมที่ฝึกการควบคุมตนเอง และได้ระบายอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น เล่นกีฬา ให้รับผิดชอบงานง่ายๆ เช่น เช็ดโต๊ะ

11. กล่าวคำชมเชย เมื่อเด็กสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม

12. ทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างในการไม่ใช้อารมณ์รุนแรงในการแก้ปัญหา

13. คอยสังเกตและป้องกันเหตุการณ์ที่คาดว่าจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว

14. ในบางรายที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมากอาจปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาเพื่อลดและควบคุมพฤติกรรม
คำว่า “ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ” นั้นใช้ได้กับทุกคนไม่เว้นแต่เด็กออทิสติก ดังนั้นพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสมของเด็กนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรตระหนักถึงความสำคัญ และช่วยกันแก้ไข วิธีการดังกล่าวข้างต้นอาจใช้ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคน ทุกข้อ ไม่มีข้อใดผิดข้อใดถูก ต้องปรับใช้ผสมผสานกันไปให้เหมาะสมกับตัวเด็กและครอบครัวซึ่งอาจได้ผลบ้างไม่มากก็น้อย เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เขาเป็นเด็กออทิสติกที่น่ารักของทุกคนต่อไป


ขอขอบคุณ อ้างอิงข้อมูลจาก: http://www.yuwaprasart.com โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมถ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น